ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน คือ
1. สูงอายุโดยเฉพาะตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
2. ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น ผลลัพธ์คือทำให้มวลกระดูกลดลง การขาดฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทั้งเพศหญิงและเพศชาย และจะส่งผลกระทบมากที่สุดกับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ส่วนในผู้ชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศหรือตรวจพบระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดต่ำ ก็พบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกัน 3. ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 40-45 ปี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเอง หรือได้รับการฉายรังสีที่รังไข่เพื่อรักษาโรคมะเร็ง หรือได้รับยาเคมีบำบัดก็ตาม
4. สูบบุหรี่เพราะสารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ กระดูกจึงขาดอาหารจากขาดเลือดได้อีกด้วย
5. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร
6. การรับประทานอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลงและเพิ่มการขับแคลเซียมทางไตมากขึ้น
7. การไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูก แต่ถ้าขาดการออกกำลังกาย ไม่ขยับร่างกายหรือขยับร่างกายน้อย เซลล์สลายกระดูกก็เพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น
8. พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา พี่สาวหรือน้องสาว เป็นโรคกระดูกพรุนหรือกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน โดยพบว่าพันธุกรรมส่งผลต่อค่าเฉลี่ยมวลกระดูกสูงสุด (Peak bone mass) ถึง 80% ส่วนอีก 20% ที่เหลือจะขึ้นอยู่กับลักษณะในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย ผู้ที่มีพันธุกรรมที่ดีจะสามารถสร้างมวลกระดูกได้สูง แต่ในขณะที่บางคนจะมีมวลกระดูกได้สูงสุดภายใต้เพดานที่จำกัดไว้เท่านั้น ถึงแม้จะพยายามพัฒนาอย่างไรก็ขึ้นสูงสุดได้ไม่มากเท่าคนที่มีพันธุกรรมที่ดี
9. ภาวะขาดสารอาหารสำหรับการสร้างกระดูก ซึ่งอาหารสำคัญของการสร้างกระดูกก็คือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี ซึ่งผู้สูงอายุมักขาดสารอาหารเหล่านี้ โดยปกติร่างกายจะมีกลไกที่ทำงานประสานกันระหว่างแคลเซียม วิตามินดี และฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone) เพื่อรักษาสมดุลของกระดูก ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อยหรือจากการที่ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการสลายกระดูกมากขึ้น และถ้าร่างกายขาดวิตามินดี การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ก็จะแย่ลง ส่งผลให้มีการสร้างมวลกระดูกน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ฮอร์โมนพาราไทรอยด์หลั่งออกมามากขึ้นอีกด้วย จึงทำให้เกิดการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น เป็นวงจรต่อเนื่องเช่นนี้จนเกิดโรคกระดูกพรุนในที่สุด
10. น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน (น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 กิโลกรัม/ตารางเมตร) เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อยและเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย
11. การเสพติดแอลกอฮอล์ หรือดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต ในปริมาณมาก เพราะแอลกอฮอล์และกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของลำไส้เล็ก และยังเป็นสาเหตุทำให้ขาดสารอาหาร (การดื่มกาแฟไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้ว ส่วนแอลกอฮอล์ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 หน่วยดื่ม ซึ่งเทียบเท่าแอลกอฮอล์สุทธิ 30 มิลลิลิตร)
12. การดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก เพราะกรดฟอสฟอริกที่ทำให้เกิดฟองฟู่ในน้ำอัดลมจะทำให้ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสเสียไป (ทำให้มีฟอสฟอรัสมากขึ้น) ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
13. โรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพซึ่งรวมถึงโรคที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคไทรอยด์เป็นพิษ, ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคเบาหวาน, โรคคุชชิง (Cushing syndrome), โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ดังนั้นผู้ที่มีพื้นฐานทางพันธุกรรมที่ดีและมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีผลต่อกระดูก จะมีการเพิ่มขึ้นของมวลกระดูกได้ถึงขีดสุดเท่าที่ภายใต้ข้อจำกัดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ดี พื้นฐานทางพันธุกรรมเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
กลับขึ้นด้านบน
|