โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกบาง

โรคกระดูกพรุน(Osteoporosis) และโรคกระดูกบาง (Osteopenia) เป็นภาวะที่มีปริมาณแร่ธาตุ (ที่สำคัญคือ แคลเซียม) ในกระดูกลดลง ร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูก ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยบริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อย คือ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง อธิบายได้ว่า เมื่อหกล้ม คนเรามักจะเอามือยันพื้นเอาไว้เพื่อประคองตัวเอง แต่ด้วยความที่เนื้อกระดูกบางลง จึงทำให้กระดูกข้อมือไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้เต็มที่เหมือนตอนหนุ่มสาว กระดูกข้อมือจึงหัก เมื่อกระดูกข้อมือหักก็จะใช้มือข้างนั้นหยิบจับอะไรไม่ได้ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วก้นเกิดกระแทกพื้นก็จะทำให้กระดูกสะโพกหัก ทำให้เดินไม่ได้ในระหว่างการรักษา ทำให้ต้องนอนติดเตียง ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับหรือโรคอื่น ๆ ตามมาหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ

 

โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน มักไม่ค่อยพบในเด็กและคนวัยหนุ่มสาว ยกเว้นในกรณีที่มีภาวะปัจจัยเสี่ยง และเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักมองข้ามเนื่องจากจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจหรือรักษา (จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงอายุ 45-75 ปี มากกว่า 86% ไม่เคยปรึกษาเรื่องกระดูกพรุนกับแพทย์เลย) ถ้ารอจนกระทั่งเมื่อกระดูกหักก่อน นอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความทุพพลภาพ ช่วยเหลือตนเองลำบาก และคุณภาพชีวิตแย่ลง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้

 

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis อ่านว่า ออส-ที-โอ-พอ-รอ-สิส) หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐานตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป (SD – Standard deviation คือ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) หรือในทางการแพทย์จะใช้เขียนเป็นตัวเลขตั้งแต่ -2.5 เอสดีขึ้นไป

 

โรคกระดูกบาง

โรคกระดูกบาง หรือ กระดูกโปร่งบาง(Osteopenia) หมายถึง โรคที่มวลกระดูกของร่างกายลดต่ำกว่าค่ามวลกระดูกมาตรฐานแต่ยังไม่ต่ำถึงค่าที่เป็นโรคกระดูกพรุน ค่ามวลกระดูกบางจึงอยู่ในช่วง -1 ถึงน้อยกว่า -2.5 เอสดี ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษาจะทำให้เสียมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้ แต่ในบางรายก็อาจเป็นโรคกระดูกพรุนได้โดยไม่ผ่านการเป็นโรคกระดูกบางมาก่อนก็ได้ ดังนั้น เรื่องของโรคกระดูกบาง เช่น สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง อาการ วิธีการรักษา และอื่น ๆ จึงเป็นเช่นเดียวกับโรคกระดูกพรุน ซึ่งในบทความนี้ต่อไปจะใช้คำว่าโรคกระดูกพรุนซึ่งหมายความรวมถึงโรคกระดูกบางด้วย

 

กลับขึ้นด้านบน

 

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Faculty of Allied Health Sciences