ชนิดของโรคกระดูกพรุน
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ
1. โรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ (Primary osteoporosis) สาเหตุหลักเกิดจากกระดูกเอง ได้แก่
1.1 โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis หรือ Osteoporosis type I) เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งจะเริ่มมีอัตราเร่งของการสลายตัวของกระดูกในช่วง 10-20 ปี หลังหมดประจำเดือน พบได้ในผู้หญิงอายุประมาณ 50-65 ปี หรือ 60-70 ปี มักพบกระดูกหักบริเวณกระดูกแขนส่วนปลายและกระดูกสันหลังทรุด
1.2 โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ (Senile osteoporosis หรือ Osteoporosis type II) เกิดจากความเสื่อมตามอายุที่มีการสะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยาวนานของการเสียสมดุลระหว่างการสร้างและการสลายของกระดูก พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70-75 ปี มักพบกระดูกหักได้บ่อยบริเวณต้นขา ต้นแขน และสะโพก
2. โรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (Secondary osteoporosis) มีสาเหตุหลักมาจากระบบอื่นที่ส่งผลกระทบมาที่กระดูก เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน, ต่อมหมวกไตทำงานน้อยผิดปกติ, ภาวะขาดเอสโตรเจน, โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง, โรคเบาหวาน, โรคคุชชิง, มะเร็ง (เต้านม เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง), โรคตับเรื้อรัง, โรคปวดข้อรูมาตอยด์, ต่อมเพศทำงานน้อยผิดปกติ, น้ำหนักน้อย (ผอม), ภาวะขาดสารอาหารและแคลอรี, การขาดแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก (เช่น ขาดแคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินดี โปรตีน), การใช้ยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) หรือเฮพารินนาน ๆ หรือใช้ฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป, การสูบบุหรี่ (ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดลดลง), การเสพติดแอลกอฮอล์, การขาดการออกกำลังกาย การขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อย หรือการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ๆ (เช่น ผู้ป่วยพิการที่นอนติดเตียงตลอดเวลา) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า โรคกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วย โดยพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป และในบางครั้งอาจพบโรคนี้ในคนที่อายุไม่มาก โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนก็ได้
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
กลไกการเกิดกระดูกพรุนที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่ในเบื้องต้นพบว่าเกิดจากการเสียสมดุลระหว่างเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) และเซลล์ดูดซึมทำลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งการมีกระดูกที่แข็งแรงต้องมีสมดุลระหว่างเซลล์ทั้งสองชนิดนี้เสมอ ซึ่งการเสียสมดุลเกิดได้จากหลายสาเหตุคือ
1. อายุ: อายุที่มากขึ้น เซลล์ต่างๆจึงเสื่อมลงรวมทั้งเซลล์สร้างกระดูก การสร้างกระดูกจึงลดลง แต่เซลล์ทำลายกระดูกยังทำงานได้ตามปกติหรืออาจทำงานมากขึ้น
2. ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ: ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก ดังนั้น โรคกระดูกพรุนจึงพบได้บ่อยในผู้หญิงและโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร
3. ภาวะขาดอาหารสำหรับการสร้างกระดูก: อาหารสำคัญของการสร้างกระดูกคือ โปรตีน แคลเซียม และวิตามิน ดี ซึ่งผู้สูงอายุมักขาดอาหารทั้งสามชนิดนี้ การขาดอาหารจะลดการสร้างมวลกระดูกและกระตุ้นให้เซลล์ทำลายกระดูกทำงานสูงขึ้น
4. ขาดการออกำลังกาย: การเคลื่อนไหวออกกำลังกายจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก ตรงกันข้าม เมื่อขาดการออกกำลังกาย เซลล์ทำลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้น
5. พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
6. โรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ: เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) หรือโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง
7. การใช้ยา: ผู้ที่ป่วยและต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน เพราะตัวยาบางชนิดจะออกฤทธิ์ไปรบกวนกระบวนการสร้างกระดูก เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) มีฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ใช้รักษาอาการอักเสบและใช้รักษาร่วมในหลายโรค อย่างหอบหืดหรือลมพิษ
8. การใช้ชีวิตประจำวัน: การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถท่าใดท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหักโหมล้วนส่งผลต่อสุขภาพกระดูกทั้งสิ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก่อความเสี่ยงให้เกิดโรคสูง
กลับขึ้นด้านบน
|