การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (BMD)
สิ่งที่มักตรวจพบในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วยตนเอง
การรักษาโรคกระดูกพรุน
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone mineral density – BMD) ด้วยเครื่อง DXA (Dual-energy X-ray absorptiometry) วิธีการตรวจคือ วัดความหนาแน่นของกระดูกที่กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา ปลายกระดูกข้อมือ แล้วนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าปกติในเพศและอายุช่วงเดียวกัน ถ้ากระดูกมีค่ามวลกระดูกน้อยกว่า 1.00 gm/cm2 จะมีโอกาสกระดูกหักได้ง่าย ซึ่งการแบ่งกระดูกตามค่ามวลกระดูกจะแบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1. กระดูกปกติ (Normal bone) คือ กระดูกมีค่ามวลกระดูกอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานจากค่าเฉลี่ย (-1 SD)
2. กระดูกบาง (Osteopenia) คือ กระดูกมีค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่างช่วง -2.5 ความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย (-1 ถึง -2.5 SD )
3. กระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ กระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกินกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ต่ำกว่า -2.5 SD)
4. กระดูกพรุนอย่างรุนแรง (Severe or Established osteoporosis) คือ กระดูกที่มีค่ามวลกระดูกอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานร่วมกับการมีกระดูกหัก
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อค้นหาสาเหตุในรายที่สงสัยว่ามีโรคหรือภาวะอื่นร่วมด้วย
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (BMD)
1. ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
2. ผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี และผู้ชายอายุต่ำกว่า 70 ปี ที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ข้อดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงที่ถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง หรือหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
- ผู้หญิงที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี ยกเว้นกรณีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ผู้ที่รับประทานยาหรือฉีดยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยกระดูกสะโพกหัก
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 19
กิโลกรัมต่อตารางเมตร (kg/m2)
3. ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (low energy trauma)
4. ผู้ที่ตรวจเอกซเรย์แล้วพบภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกสันหลังผิดรูป
5. ผู้ที่มีส่วนสูงลดลงมากกว่า 4 เซนติเมตร หรือวัดได้ลดลงมากกว่า 2 เซนติเมตรต่อปี
6. ผู้ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป จากการตรวจคัดกรองด้วย OSTA index หรือ KKOS score หรือ Nomogram
สิ่งที่มักตรวจพบในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
* ถ้ามีภาวะกระดูกหักเฉียบพลัน เช่น ตกจากที่สูง หกล้ม ก็จะตรวจพบอาการเจ็บปวด บวม หรือกระดูกบิดเบี้ยว หรือขยับเขยื้อนไม่ได้
* ถ้ากระดูกสันหลังแตกหักหรือยุบตัวแบบเรื้อรัง (มักเกิดจากแรงกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด) ผู้ป่วยจะมีส่วนสูงลดลงหรือหลังโก่งหลังค่อม
* นอกจากนี้อาจตรวจพบอาการของโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคคุชชิง เป็นต้น
การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนด้วยตนเอง
เราสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้อย่างคร่าว ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้น โดยการคำนวณด้วยสูตร 0.2 x (น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม – อายุเป็นปี) ส่วนผลลัพธ์ที่ได้ให้ตัดจุดทศนิยมออก ซึ่งค่าที่ได้จะบอกได้ถึงความจำเป็นในการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก โดยที่
* ค่าที่ได้น้อยกว่า -4 ( เช่น -5 หรือ -6) มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
* ค่าที่ได้อยู่ระหว่าง -1 ถึง -4 มีความเสี่ยงปานกลาง
* ค่าที่ได้มากกว่า -1 (เช่น 0 หรือ 1) มีความเสี่ยงต่ำ
ค่าที่คำนวณได้นี้เป็นค่าที่ใช้ประเมินความเสี่ยงแบบคร่าว ๆ เท่านั้น เนื่องจากการเกิดภาวะกระดูกพรุนยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก นอกจากอายุและน้ำหนักตัว
การรักษาโรคกระดูกพรุน
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุนคือ เพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและหยุดหรือลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูกเช่น การกินวิตามินเกลือแร่เสริมอาหารต่างๆเช่น แคล เซียม วิตามินดี, การใช้ยาต้านการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูกเช่น ยาในกลุ่ม Bisphospho nate, การให้ยาฮอร์โมนต่างๆเช่น Estradiol Levonorgestrel ทั้งเพื่อเพิ่มการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและลดการทำงานของเซลล์ทำลายกระดูก, และการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
อนึ่ง การใช้ยาต่างๆควรต้องเป็นการแนะนำจากแพทย์ เพราะในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีการใช้ ชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยาต่างๆเหล่านี้ยังมีผล ข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
กลับขึ้นด้านบน
|