Welcome To Sudarat Website

 

 เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์


           หากคู่สามีภรรยาพร้อมที่จะมีลูกและทราบว่าตนเองมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลให้มีลูกยาก และในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่นำมาใช้ในการรักษาภาวะมีลูกยาก ลองมาทำความรู้จักกัน
        
           การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (Intrauterine Insemination: IUI) แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่ จนเมื่อวันที่ไข่ตก ก็ทำการเก็บอสุจิ โดยคัดเอาตัวที่ดี และนำไปใส่ในมดลูก แต่วิธีนี้จะเหมาะกับผู้หญิง ที่ไม่มีปัญหาท่อนำไข่ตัน โดยจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 15-20% ในผู้หญิงที่อายุไม่มาก หากอายุประมาณ 35-40 ปี โอกาสในการตั้งครรภ์ก็จะลดลง เหลือประมาณ 10%


           การทำกิฟท์ (Gamete Intrafallopian Transfer: GIFT) แพทย์จะทำการกระตุ้นไข่ จนเมื่อวันที่ไข่ตก ก็ทำการเก็บอสุจิ นำมาผสมกับไข่ แล้วใส่ในหลอดเล็กๆ ใส่กลับเข้าไปบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ แต่วิธีการนี้ต้องเจาะผนังหน้าท้องเพื่อนำไข่และอสุจิใส่ในท่อนำไข่ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน


          การทำซิฟท์ (Zygote Intrafallopian Transfer: ZIFT)วิธีการนี้คล้ายกับการทำกิฟท์ แต่ต่างกันที่เมื่อนำอสุจิกับไข่มาผสมกันแล้ว จะนำไปเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการจนเกิดการปฏิสนธิตัวอ่อนในระยะที่เรียกว่า zygote จึงค่อยใส่กลับไปในบริเวณท่อนำไข่ ซึ่งวิธีการนี้ก็ต้องทำการเจาะผนังหน้าท้องเช่นเดียวกับการทำกิฟท์ จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่นกัน


           การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization: IVF) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยจะเป็นการเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอดและนำมาผสมกับอสุจิให้เกิดปฏิสนธิกันภายในห้องปฏิบัติการจนได้ตัวอ่อน จึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกต่อไป ซึ่งวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้การเจาะผนังหน้าท้อง และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้น โดยผู้หญิง ที่อายุต่ำกว่า 38 ปีมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 30-50% และในคนที่อายุมากกว่า 38 ปีจะมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำกว่า 30%


           การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) เป็นการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ จัดเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำ IVF โดยจะใช้ในกรณีที่ฝ่ายชายมีอสุจิที่คุณภาพไม่ดี ไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ชายมีปัญหาไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ ก็มีวิธีการที่จะนำเอาตัวอสุจิออกมาจากลูกอัณฑะหรือหลอดอสุจิเพื่อมาใช้ในกระบวนการทำอิ๊กซี่ต่อได้ เช่น PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration), MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) หรือ TESE (Testicular Biopsy Sperm Extraction)

           ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาและโอกาสในการตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความผิดปกติ และวิธีการที่ใช้ เมื่อคู่สามีภรรยาตัดสินใจเข้ารับการรักษาภาวะมีลูกยาก แพทย์จะเป็นผู้ร่วมพิจารณาว่าควรใช้วิธีใด เพื่อช่วยเพิ่มความสำเร็จของการตั้งครรภ์โดยคุ้มค่ากับเวลา ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงจากการใช้ยาต่างๆ

          สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ การรักษาภาวะมีลูกยากอาจต้องใช้เวลา คู่สามีภรรยาควรเตรียมร่างกายและใจให้พร้อม และอย่าลืมให้กำลังใจกันและกันอย่างสม่ำเสมอ

 

 

อ้างอิงจาก

https://women.thaiza.com/mom-baby/275511/