ระยะอาการเมเนีย(mania episode)

Bipolar Disorder

 

ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ จะมีช่วงที่อารมณ์ผิดปกติ โดยมีช่วงซึมเศร้า(depressive episode) สลับกับช่วงที่อารณ์ดี หรือคึกคักมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) ซึ่งขออธิบายแยกเป็นช่วงๆ คือ

ช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ หรือเมเนีย (mania) ผู้ป่วยจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

1.อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ร่าเริงมีความสุข เบิกบานใจ หรือหงุดหงิดง่ายก็ได้ ซึ่งญาติใกล้ชิดของผู้ป่วยมักจะสังเกตได้ว่าอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนผิดปกติ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นติดต่อกันทุกวันอย่างน้อย 1 สัปดาห์

2.มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความเชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถมาก เกินไป เชื่อว่าตนเองสำคัญ และยิ่งใหญ่ หรืออาจมีเนื้อหาของความคิดผิดปกติมาก ถึงขั้นว่าตนเองสำคัญ หรือยิ่งใหญ่ เช่น เชื่อว่าตนเองมีอำนาจมาก หรือมีพลังอำนาจพิเศษ เป็นต้น

3.การนอนผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีความต้องการในการนอนลดลง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกว่านอนแค่ 3 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น

4.ความคิดแล่นเร็ว (flight of idea) ผู้ป่วยจะคิดค่อนข้างเร็ว บางครั้งคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อม ๆ กัน คิดเรื่องหนึ่งไม่ทันจบก็จะคิดเรื่องอื่นทันที บางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปของการมีโครงการต่าง ๆ มากมาย

5.พูดเร็วขึ้น เนื่องจากความคิดของผู้ป่วยแล่นเร็ว จึงส่งผลต่อคำพูด ที่แสดงออกมาให้เห็น ผู้ป่วยมักจะพูดเร็ว และขัดจังหวะได้ยาก ยิ่งถ้าอาการรุนแรงคำพูดจะดัง และเร็วขึ้นอย่างมากจนบางครั้งยากต่อการเข้าใจ

6.วอกแวกง่าย ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน และความสนใจมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระตุ้นได้ง่าย

7.การเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ในผู้ป่วยบางรายจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน มีการเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นชัดเจน ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้

8.ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ผู้ป่วยเมเนียมักจะแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากการยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น ดื่มสุรามาก ๆ โทรศัพท์ทางไกลมาก ๆ เล่นการพนัน หรือเสี่ยงโชคอย่างมาก ใช้เงินมากขึ้น ได้

** สำหรับอาการไฮโปเมเนียนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการข้างต้นเช่นเดียวกับเมเนีย แต่จะแตกต่างกับเมเนียคือ อาการไฮโปเมเนียจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ หรือการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก และผู้ป่วยต้องมีอาการอย่างน้อยที่สุดนาน 4 วัน

ในระยะเมเนีย เขาจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย เขาจะมั่นใจตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป 2-3 ช็อตจนคนตามไม่ทัน การพูดจาจะลื่นไหลพูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย

ช่วงนี้เขาจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการโปรเจคต่างๆ มากมาย พลังของเขาจะมีเหลือเฟือ นอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด ตีสี่ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย

ด้วยความที่เขาสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ เขาทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจตนเองมีน้อยมากเรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันทีหากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง ในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด เสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง โกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาดถ้ามีคนขัดขวาง

 

Manic Episode

 

A. มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติ
และคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (หรือนานเท่าใดก็ได้หากต้องอยู่ในโรงพยาบาล)

B. ในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอด อย่างน้อย 3 อาการ (หรือ 4 อาการหาก
มีเพียงอารมณ์หงุดหงิด) และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญ

1.มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถ

2.ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)

3.พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด

4.ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆ กัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว

5.วอกแวก (ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น)

6.มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมาย เพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงานหรือการเรียน หรือด้านเพศ) หรือ กระสับกระส่ายมาก

7.หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลินแต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา
(เช่น ใช้จ่ายอย่างไม่ยับยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)

D. ความผิดปกติด้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงจนทำให้มีความบกพร่องอย่างมากในด้านการงาน หรือกิจกรรมทางสังคม
ตามปกติ หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีอาการโรคจิต

E. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสาร (เช่น สารเสพติด ยา หรือการรักษาอื่น) หรือจากภาวะ
ความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ) หมายเหตุ: ระยะอาการคล้าย mania ที่เห็นชัดว่า
เป็นจากการรักษาทางกายภาพของภาวะซึมเศร้า (เช่น การใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาด้วยแสงสว่าง) ไม่ควรรวมอยู่ในการวินิจฉัยของ Bipolar I Disorder

 

Hypomanic Episode

 

A. มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอด
อย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 4 วัน โดยเห็นชัดว่าต่างจากช่วงอารมณ์ปกติที่ไม่ซึมเศร้า

B. ในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอด อย่างน้อย 3 อาการ (หรือสี่อาการหากมีเพียงอารมณ์หงุดหงิด) และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญ

1.มีความเชื่อมั่นตัวเองเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถ (grandiosity)

2.ความต้องการนอนลดลง (เช่น ได้นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว)

3.พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดอย่างไม่หยุด

4.ความคิดแล่น คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆ กัน หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว

5.วอกแวก (distractibility) (ได้แก่ ถูกดึงความสนใจได้ง่าย แม้สิ่งเร้าภายนอกจะไม่สำคัญ
หรือไม่เกี่ยวเนื่อง กับสิ่งที่สนใจอยู่ในขณะนั้น)

6.มีกิจกรรมซึ่งมีจุดหมาย เพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงานหรือการเรียน หรือด้านเพศ) หรือ กระสับกระส่าย

7.หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน แต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา (เช่น ใช้จ่ายไม่ยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ หรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)

C. ระยะที่มีอาการมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ลักษณะประจำของบุคคลนั้น
ขณะไม่มีอาการอย่างเห็นได้ชัด

D. ผู้อื่นสังเกตเห็นความผิดปกติด้านอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ นี้

E. ระยะที่มีอาการไม่รุนแรงถึงกับทำให้กิจกรรมด้านสังคม หรือการงานบกพร่องลงมาก หรือทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาล และไม่มีอาการโรคจิต

F. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสาร (เช่น สารเสพติด ยา หรือการรักษาอื่น) หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ)

หมายเหตุ: ระยะอาการคล้าย hypomania ที่เห็นชัดว่าเป็นจากการรักษาทางกายภาพของภาวะซึมเศร้า (เช่น การใช้ยา การรักษาด้วยไฟฟ้า การรักษาด้วยแสงสว่าง) ไม่ควรรวมอยู่ในการวินิจฉัยของ Bipolar II Disorderฃ

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

หน้าหลัก
ความเป็นไปของโรค
การวินิจฉัย
ระยะซึมเศร้า
ผู้จัดทำ

TOP

 

 

 

bipolar