Treatmentการวินิจฉัยและรักษาโรค

 

หน้าหลัก
เกี่ยวกับโรค

 

treatment

 

 

การวินิจฉัยโรค

 

 

แม้จะเป็นโรคที่พบบ่อย แต่สาเหตุของโรคลำไส้ แปรปรวนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แพทย์เชื่อว่ากลไกการเกิดโรคนั้นอาจเป็นได้ทั้งจากการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารผิดปกติ หรือประสาทรับรู้ความรู้สึกในทางเดินอาหารไวกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแพทย์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมากขึ้น การวินิจฉัยจึงแม่นยำมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ ด้วยอาการปวดท้อง แน่นท้อง บริเวณท้องน้อยข้างซ้ายหรือ ข้างขวา ร่วมกับการขับถ่าย ที่ผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคลำไส้แปรปรวน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งในระบบทางเดินอาหารควรได้รับการตรวจทางห้องปฎิบัติการเบื้องต้น เช่น ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ และการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ส่วนการส่องกล้องนั้น หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องส่องกล้องทุกรายและทุกครั้งไป โดยปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมีหลายประการ เช่น ผู้ป่วยมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ป่วยมีประวัติท้องผูกเป็นเวลานานหรือมีท้องผูกสลับท้องเสียบ่อย ๆ อาจจำเป็นต้องส่องกล้องเพื่อหาความผิดปกติทางกายภาพเพิ่มเติม เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจต่าง ๆ แล้วยังไม่พบความผิดปกติทางกายภาพจึงจะจัดว่าผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน

paincolonystomach

 

การรักษา

 

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของโรคชัดเจน การรักษาจึงเป็นไปตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนี้

  • อาหาร สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการหลังจากรับประทานอาหารบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น แนะนำให้ทำไดอารี่ของอาการ จดบันทึกว่ารับประทานอาหารอะไรแล้วเกิดอาการอย่างไร วิธีนี้จะช่วยให้ทราบถึงชนิดของอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นอาการได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มดังกล่าว ซึ่งอาหารที่พบว่าทำให้เกิดอาการบ่อยได้แก่ อาหารรสจัดและมีไขมันสูง ของหมักดอง กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป โดยแบ่งรับประทานทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น
  • ยา ส่วนใหญ่เป็นยารักษาตามอาการ เช่น ไฟเปอร์หรือยาระบายสำหรับกรณีท้องผูก หากท้องเสียให้ใช้ยาลดการถ่าย อาการปวดท้องก็เป็นยาลดการบีบเกร็งลำไส้ ส่วนอาการอืดแน่นท้องจากแก๊สให้ยาขับแก๊ส รวมถึงมีการให้ยากลุ่มยาปฏิชีวนะหรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีเพื่อปรับสมดุลแบคทีเรียในร่างกาย สามารถช่วยลดอาการได้
  • สภาวะจิตใจ เนื่องจากความเครียดมีผลต่อโรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยจึงควรผ่อนคลายความเครียด ทำใจให้สบาย บางครั้งการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

เนื่องจากโรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคเรื้อรังและมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นอีกหลังอาการดีขึ้นแล้ว หากไม่อยากให้ชีวิตปรวนแปรน่ารำคาญ ผู้ป่วยควรปรับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำไปตลอด นอกจากจะทำให้อาการลดลงแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นใหม่ได้อีกด้วย

medicinefood diary

 

Credit : Bumrungrad International Hospital , Samitivej Hospital

Top