การป้องกันโรคมะเร็ง
การเกิดโรคมะเร็งมีหลายสาเหตุ และหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งภาวะภายใน และภายนอกร่างกาย มะเร็ง ซึ่งทราบสาเหตุที่แท้จริงจากภาวะภายนอกร่างกายก็สามารถป้องกันได้ แต่ยังมีมะเร็งอีกหลายๆ ชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง หรือเกี่ยวกับภาวะภายในร่างกาย จึงไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เพื่อการป้องกันโรคมะเร็ง หรือการที่จะรู้ตัวว่า เป็นมะเร็ง ตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้อาศัยมาตรการที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
มาตรการแรก
ในการป้องกันโรคมะเร็ง คือ การรักษาสุขภาพ และพลานามัยให้แข็งแรงอยู่เสมอ สุขภาพ และพลานามัยที่แข็งแรงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยปฏิบัติดังนี้
๑. บริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งเนื้อสัตว์ และพืชผักผลไม้ ในปริมาณที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป
๒. สิ่งที่เป็นเครื่องบั่นทอนสุขภาพ เช่น บุหรี่ สุรา ควรจะงดหรือลดให้เหลือลดน้อยที่สุด
๓. ควรมีการพักผ่อนทั้งร่างกาย และจิตใจ
๔. ควรออกกำลังแต่พอสมควร เพื่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
๕. รักษาความสะอาดของร่างกายทุกๆ ส่วน โดยเฉพาะภายในช่องปาก และบริเวณอวัยวะเพศ ในเพศชายที่หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด ควรให้แพทย์ทำผ่าตัดหนังหุ้มปลายออกเสีย
มาตรการที่สอง
ได้แก่ การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับโรคมะเร็งบ้างพอสมควร เมื่อมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักโดยทั่วๆ ไปของโรคมะเร็งแล้ว ก็ย่อมจะเกิดแนวทางทั้งในด้านการป้องกัน และสามารถรู้ได้ว่า เป็นมะเร็งตั้งแต่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงสาเหตุหรือสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง
ก. อาหาร ไม่ควรบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด อาหารหรือขนมที่ใส่สีย้อม ซึ่งจะสังเกตได้ง่าย คือ มีสีฉูดฉาด และเมื่อรับประทานแล้ว สีจะออกมากับปัสสาวะ อาหารเนื้อสัตว์หมักชนิดต่างๆ ควรทำให้สุกเสียก่อน อาหารที่ขึ้นราควรงดโดยเด็ดขาด เพราะสารอะฟลาทอกซินจะไม่ถูกทำลายโดยการทำให้เดือดหรือสุกโดยวิธีใดก็ตาม อาหารที่ขึ้นราง่ายควรเก็บในภาชนะที่แห้งสนิท และมิดชิด
ข. สิ่งเสพ เช่น สุรา บุหรี่ หมากพลู ควรจะงดเสีย
ค. ยารักษาโรค ไม่ควรรับประทานยาที่เข้าสารหนู หรือกำมะถันในปริมาณมากๆ ยาที่เข้าฮอร์โมนควรจะรับประทาน เมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น อย่าซื้อรับประทานเอง
ง. การระคายเรื้อรัง ฟันเกที่ครูดลิ้นหรือกระพุ้งแก้มอยู่เสมอควรถอนเสีย ไม่ควรฉีดสารแปลกปลอม เพื่อการเสริมสวย เช่น การฉีดพาราฟิน เป็นต้น
จ. สาเหตุอื่นๆ เช่น ควรหลีกเลี่ยงเคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน รังสี* เป็นต้น
๒. สนใจสุขภาพของตนเองและลูกหลาน การสนใจสุขภาพของตนเอง และลูกหลาน มีความสำคัญต่อการที่แพทย์จะสามารถค้นหามะเร็ง หรือวินิจฉัยมะเร็งในขณะที่เพิ่งเป็นได้ ซึ่งจะกล่าวต่อไป
การรักษาโรคมะเร็ง
๑. การผ่าตัด
เป็นวิธีการรักษาที่ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาดในกรณีที่โรคยังเป็นน้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาอาการชั่วคราว ในกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว มีรายงานทางการแพทย์ที่กล่าวถึงประวัติของการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีผ่าตัดมาตั้งแต่ ๕ ศตวรรษ ก่อนคริสตกาล ในปัจจุบันนี้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งจะต้องชำนาญ และฝึกฝนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ และจะต้องรู้ประวัติธรรมชาติของโรคมะเร็งเป็นอย่างดี
๒. รังสีรักษา
เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาด และเพื่อการบรรเทาอาการชั่วคราว ผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดมักจะได้รับการรักษาด้วยรังสี เพราะอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว และการรักษาด้วยรังสี เพื่อบรรเทาอาการ จะสะดวกสบายมากกว่า การผ่าตัดในประเทศไทยมีประวัติของการใช้รังสีเอกซ์รักษาโรคมะเร็ง ในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘
รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมี ๒ กลุ่มใหญ่ คือ
๒.๑ รังสีโฟตอน ซึ่งมีพลังงานทะลุทะลวงระหว่า ๑.๒๔ กิโลโวลต์ ถึง ๑๒.๔ เมกะโวลต์ มีขนาดของคลื่นรังสีระหว่าง ๑๐-๐.๐๐๑ อังสตรอม อาทิเช่น รังสีเอกซ์ จากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ รังสีแกมมาจากสารกัมมันตรังสีต่าง ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ เช่น จากแร่เรเดียม (226 radium) หรือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เช่น โคบอลต์ ๖๐ (60 cobalt) ซีเซียม ๑๓๗ (137 Cs) ไอโอดีน ๑๓๑ (131 I) ทอง ๑๙๘ (198 Au) ฯลฯ
๒.๒ รังสีอนุภาค ส่วนใหญ่ได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสี หรือจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู และโดยทั่วไปแล้ว รังสีพวกนี้จะมีพลังงานทะลุทะลวงน้อยกว่ารังสีโฟตอน อาทิเช่น อนุภาคแอลฟา จากแร่เรเดียม ก๊าซเรดอน และอนุภาคเบตา จากแร่สตรอนเตียม ๙๐ (strontium-90) ฟอสฟอรัส ๓๒ (phosphorus-32)
|

เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ เอ (คลิกที่รูป) |
|
รังสีต่างๆ ที่กล่าวมานี้ นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีเทคนิคใหญ่ๆ ๒ แบบ คือ ในรูปของตันกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกายของผู้ป่วย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการฉายรังสีลึก เช่น จากเครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดลึก (ซึ่งแตกต่างไปจากเครื่องเอกซเรย์สำหรับการถ่าย เพื่อการวินิจฉัยโรค) เครื่องโคบอลต์ ๖๐ ซึ่งมีการติดตั้งการใช้รักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ และเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น และอีกแบบหนึ่ง อยู่ในรูป ของต้นกำเนิดรังสี อยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ การฝังแร่เรเดียมในการรักษามะเร็งในช่องปาก การสอดใส่แร่เรเดียมในการรักษามะเร็งปากมดลูก หรือการใช้ไอโอดีน ๑๓๑ รับประทานในการรักษามะเร็งต่อมไธรอยด์ เป็นต้น
๓. การใช้สารเคมีบำบัด
การรักษาในรูปของการใช้ยารักษามะเร็งกำลังเป็นที่สนใจ และมีบทบาทสำคัญ ในปัจจุบันนี้ มีมะเร็งหลายชนิด ที่อาจรักษาให้หายขาดด้วยยา แต่ส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะในรายที่เป็นมากแล้ว เพื่อเป็นการรักษา เพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
ชนิดของยา อาจจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไม่ใช่ฮอร์โมน และฮอร์โมน หรือจะแบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ของยา ทางจลนศาสตร์ของเซลล์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ
ก. ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้ทุกระยะในวงชีพของเซลล์ โดยไม่จำกัดเวลา อาทิเช่น ยาประเภทไนโตรเจน มัสตาร์ด เป็นต้น
ข. ออกฤทธิ์จำกัดได้เฉพาะระยะใดระยะหนึ่ง ในวงชีพของเซลล์เท่านั้น เช่น ยาประเภทอัลคาลอยด์จากพืชบางอย่าง ออกฤทธิ์ได้เฉพาะเซลล์ที่กำลังอยู่ในระยะแบ่งตัว หรือยาเมโธรเทรกเสตจะออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์ที่กำลังมีการสร้าง ดีเอ็นเอ เท่านั้น
๔. การใช้การรักษาทั้ง ๓ วิธีกล่าวมาแล้วร่วมกัน
ในปัจจุบันนี้การรักษาโรคมะเร็ง ได้ก้าวผ่านการรักษาตามอาการ และการรักษา เพื่อบรรเทาเข้ามาสู่การรักษา เพื่อมุ่งหวังให้โรคหายขาดมากขึ้น แต่เดิมการรักษามักจะกระทำโดยแพทย์เฉพาะทางฝ่ายเดียว เมื่อการรักษาล้มเหลวจากวิธีใดวิธีหนึ่งแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็นอีกวิธีหนึ่ง ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ในปัจจุบันนี้ จึงนิยมใช้วิธีการรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น หรือสะดวกขึ้นอาทิเช่น การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด โดยการผ่าตัดเอามะเร็งปฐมภูมิออก และฉายรังสีไปที่มะเร็งทุติยภูมิ ที่ต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งปอด
การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา และสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของไตในเด็ก รังสีรักษาร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว เป็นต้น
๕. การรักษาโดยการเสริมภูมิคุ้มกัน
เป็นวิธีการรักษาที่เพิ่งจะสนใจ และเริ่มใช้กันในวงการแพทย์เมื่อไม่นานมานี้ และนับวันจะยิ่งมีบทบาทมีความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยหลักที่ว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งนั้น เนื่องจากว่าร่างกายไม่สามารถที่จะค้นพบว่า ที่ผิวของผนังด้านนอกของเซลล์มะเร็งมีแอนติเจนที่เรียกว่า ทีเอเอ อยู่ หรือในกรณีที่ร่างกายสามารถจะค้นพบแอนติเจนนี้ได้ แต่ร่างกายไม่สามารถจะสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดีไปต่อต้าน หรือทำลายแอนติเจนนี้ จะเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายล้มเหลว หรือมีอะไรไปยับยั้งในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ฉะนั้น การกระตุ้นให้ร่างกายสามารถจะค้นหาแอนติเจนจากเซลล์มะเร็งได้ หรือการกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น จะโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม ก็น่าที่จะให้มะเร็งที่กำลังเป็นผู้อยู่ในบุคคลผู้นั้นมีการฝ่อตัวลง หรือหยุดการเจริญเติบโต หรือโตช้าลง
๖. การรักษาทางด้านจิตวิทยา
มีความสำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมาก เพราะว่า เพียงแต่รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งเท่านั้น ผู้ป่วยก็จะหมดกำลังใจเสียแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยส่วนใหญ่ ก่อนจะมารับการรักษาที่ถูกต้องนั้น มักจะหมดแล้ว ทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ และโดยเฉพาะในระยะสุดท้ายของโรค นอกจากผู้ป่วยจะมีอาการไม่สบาย เจ็บปวดทางกายแล้ว ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกอ้างว้าง รู้สึกว่า ถูกทอดทิ้ง หรือเป็นที่รังเกียจแม้แต่กับญาติสนิท ฉะนั้นการให้การรักษาในด้านจิตวิทยา และการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้ผู้ป่วยมีจิตใจสบายขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีกเล็กน้อย โดยมีความสุขใจพอสมควร แม้ว่าจะเป็นความสุข ความพอใจเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ตาม
|