มะเร็งคืออะไร

 

เนื้องอกกล้ามเนื้อต้นคอ (คลิกที่รูป)

 

 

ก้อน ตุ่ม ไต ที่ผิดปกติที่ปรากฏภายใน หรือบริเวณผิวหนังของร่างกายเรียกรวมๆ กันว่า "เนื้องอก" (neoplasm, neoplasia, new growth, tumour) เนื้องอกนี้เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อของร่างกาย อยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และไม่มีประโยชน์หรือมีโทษ ต่อร่างกาย

เนื้องอกกล้ามเนื้อต้นคอ   เนื้องอกแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. เนื้องอกชนิดธรรมดา (benign tumour)

โดยปกติจะมีผลต่อร่างกายน้อยมาก นอกจาก

ก. เกิดในอวัยวะที่มีเนื้อที่จำกัด เช่น ภายในสมอง ทำให้เกิดการกดดันต่อเนื้อสมองปกติโดยรอบอย่างมาก ทำให้เสียชีวิตได้

ข. เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มีก้านอาจจะบิดตัว ทำให้เกิดความเจ็บปวด เกิดการเน่าตายของก้อนเนื้องอก มีเลือดออก หรือมีการติดเชื้อได้

ค. เนื้องอกที่มีการสร้างฮอร์โมน เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ตับอ่อน เป็นต้น ทำให้ร่างกายมีการผิดปกติในระบบฮอร์โมนเป็นอย่างมาก

ง. เนื้องอกชนิดธรรมดาอาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

๒. เนื้องอกชนิดร้าย (malignant tumour)

หรือที่เรียกันทั่วๆ ไปว่า "มะเร็ง" (cancer) นั่นเอง แขนงวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็ง เรียกว่า "เนื้องอกวิทยา" (oncology) ซึ่งมาจากภาษากรีก onkos แปลว่า tumour หรือ mass และคำว่า cancer แปลว่าปู มะเร็งอาจจะเกิดในลักษณะที่เป็นก้อนมะเร็ง หรืออาจจะเกิดในลักษณะที่เซลล์มะเร็งกระจายไปทั่วระบบอวัยวะนั้นๆ อาทิ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งจะกระจายไปทั่วระบบการไหลเวียนเลือด เป็นต้น

ฉะนั้น มะเร็ง คือ เนื้องอกชนิดร้ายที่เกิดขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย มีการเจริญเติบโตอยู่นอกเหนือการควบคุมของร่างกาย และมีโทษต่อร่างกาย เซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเป็นก้อน หรือเป็นแผลมะเร็งขนาดใหญ่ ลักษณะการโตของก้อนมะเร็งจะเป็นแบบแทรกซ้อน หรือมีส่วนยื่นเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติโดยรอบเหมือนขาปู (ฉะนั้นสัญลักษณ์ของมะเร็ง หรือเครื่องหมายขององค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง จึงมักจะใช้รูปปู เป็นเครื่องหมาย) การแทรกซึมเช่นนี้ จึงมีการทำลายเนื้อเยื่อปกติใกล้เคียงเป็นอย่างมาก มีการทำลายหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออก หรือจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วมาก จนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง จึงเกิดการเน่าตายของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก และลักษณะที่สำคัญของมะเร็งคือ เซลล์มะเร็งจากมะเร็งปฐมภูมิ สามารถจะแพร่กระจายไปได้ทั่วร่างกาย ไปเกิดขึ้นใหม่เป็นมะเร็งทุติยภูมิตรงส่วนอื่นของร่างกาย ที่อยู่ห่างไกลออกไป

มะเร็งแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน และยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เฉพาะ ระหว่างมะเร็งนั้น กับตัวผู้ป่วยโดยตรง ความรุนแรงจึงแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่ละก้อนมะเร็งในคนเดียวกัน หรือแม้แต่มะเร็งก้อนเดียวกัน ก็ยังมีอัตราการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน มะเร็งบางชนิดมีการแพร่กระจายได้รวดเร็วมาก แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มเป็น เช่น มะเร็งปอด บางชนิดโตช้า และแพร่กระจายช้า ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี แม้ว่าจะเริ่มต้นรักษาช้า หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ เช่น มะเร็งของต่อมไธรอยด์ชนิดปุ่ม (papillary) เป็นต้น

มะเร็งมีการแพร่กระจายได้อย่างไร

นอกจากก้อนมะเร็งจะมีการเติบโตแทรกซึมเข้าไปยังเนื้อเยื่อปกติโดยรอบแล้ว ยังมีการแพร่กระจายไปได้ไกลๆ เพราะเซลล์มะเร็งมักจะหลุดออกจากกันได้ง่าย เนื้องอกที่ผนังของเซลล์มะเร็งจะมีแคลเซียมไอออนน้อยกว่า และมีประจุไฟฟ้ามากกว่าที่ผนังของเซลล์ปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่า ในก้อนมะเร็งยังมีน้ำย่อยชนิดที่จะละลายเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น น้ำย่อยโปรตีน (protease) น้ำย่อยสารไฮอะลิน (hyaluronidase) และน้ำย่อยอะมิโนเปปไทด์ (amino peptidase) เซลล์มะเร็งมักจะเป็นรูปกลมต่างจากเซลล์ปกติ ซึ่งมักจะเป็นรูปแบน ดังนั้น เซลล์มะเร็งจึงมีส่วนสัมผัส และการยึดเหนี่ยวระหว่างเซลล์น้อย

มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรองซัวส์ แวงซองต์ ราสปายส์ (Francois Vincent Raspail) ได้กล่าวไว้ว่า "เซลล์ของร่างกายมนุษย์ นอกจากจะเป็นรากฐานของการมีชีวิต และสุขภาพแล้ว เซลล์ยังเป็นรากฐานของโรคภัยไข้เจ็บ และความตายด้วย" นั่นคือ การเกิดมะเร็งก็จะมีจุดเริ่มต้นจากเซลล์เช่นกัน โดยจะเกิดความพิการ หรือผิดปกติที่ยีน (gene) ภายในโครโมโซม (chromosome) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรดนิวคลีอิก และเป็นรหัสชีวิตที่จะควบคุมลักษณะ และหน้าที่การทำงาน ของเซลล์ และการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ ความพิการ หรือผิดปกติเช่นนี้ ทำให้เซลล์แบ่งตัว โดยไม่ยอมหยุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร่างกาย นักวิจัยเป็นจำนวนมากทั่วโลก ต่างก็ได้พยายามที่จะค้นคว้าวิจัยว่า อะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง และก็ยังไม่สามารถจะสรุปแน่นนอนได้ว่า เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า มีเหตุส่งเสริมที่สำคัญ ๒ อย่างร่วมกัน อันจะทำให้เซลล์นั้นๆ ทำงานผิดปกติไปคือ

 

ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่แตกเป็นแผล และไปกดเส้นเลือดที่คอ

 

๑. เหตุส่งเสริมหรือปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับภาวะภายในร่างกาย ซึ่งได้แก่

- ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งในแต่ละบุคคลจะมีมากน้อยแตกต่างกัน โดยปกติเซลล์มะเร็งสามารถจะสร้างสารต่างๆ ออกมาในรูปของโปรตีน และโพลีเปปไทด์ (polyepeitdes) หลายๆ ชนิด ซึ่งจะพบได้ที่พื้นผิว หรือผนังของเซลล์มะเร็งเรียกว่า ทูเมอร์แอสโซซิ เอตแอนติเจน (tumour associated antigen, TAA) หรือทูเมอร์สเปซิฟิกทรานส์แพลนเตชันแอนติเจน (tumour speciflc transplantation antigen, TSTA) ตามปกติร่างกายของคนเรา สามารถจะรับรู้แอนติเจนชนิดนี้ จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี ที่จะมาต้านแอนติเจนนี้ได้ จะโดยสาเหตุใดก็ตามที่ร่างกายไม่สามารถจะค้นพบ หรือไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านแอนติเจนนี้ได้ ก็จะเกิดเซลล์มะเร็งขึ้น

- เชื้อชาติ ทุกชนชาติเป็นมะเร็งได้เหมือนกัน แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากเฉพาะบางเชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ส่วนมะเร็งโพรงจมูกพบมากในชาวจีน เป็นต้น

- เพศ มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศชาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ แต่มะเร็งบางชนิดจะพบมากในเพศหญิง เช่น มะเร็งของช่องปาก มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น และมะเร็งบางชนิดก็จะพบได้เท่าๆ กันทั้งสองเพศ

- อายุ มะเร็งบางชนิดพบมากในคนอายุน้อย เช่น มะเร็งของเนื้อเยื่อที่เรียกว่า ซาร์โคมา (sarcoma) ในขณะที่มะเร็งของเยื่อบุที่เรียกว่า คาร์ซิโนมา (carcinoma) จะพบมากในคนอายุมาก และมะเร็งบางชนิดก็จะพบเฉพาะในเด็กเท่านั้น เช่น มะเร็งของลูกตา ชนิดเรติโนบลาสโตมา (retinoblastoma) มะเร็งของไตแบบวิล์ม (Wilm's tumour) เป็นต้น

- กรรมพันธุ์ (genetics)  มีมะเร็งหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรรมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน เช่น มะเร็งของมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลูกตา ชนิดเรติโนบลาสโตมา ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้ว พี่น้อง หรือลูกหลานก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งนั้นๆ ได้มากขึ้น

- ความผิดปกติต่างๆ เช่น ในกรณีที่เป็นไฝหรือปานดำ มีโอกาสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาชนิดร้าย (maligmant melanoma) หรือเนื้องอกชนิดธรรมดาก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

๒. เหตุส่งเสริมที่อยู่ภายนอกร่างกาย ได้แก่

- สารกายภายต่าง ๆ (physical agents) ส่วนใหญ่เกิดจากการระคายเรื้อรัง เช่น ผู้ที่มีฟันเก เวลาเคี้ยวอาหารฟันจะไปครูดกับเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม หรือลิ้น นานๆ ไปทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อบุในช่องปาก หรือมะเร็งของลิ้นได้

 

ฟันเกไปครูดเยื่อบุภายในของริมฝีปากล่าง เป็นแผลเพิ่งเริ่มกลายเป็นมะเร็ง

 

 

- สารเคมี (chemical agents) ในปัจจุบันนี้มนุษย์เรา โดยเฉพาะชาวไทย นอกจากจะมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแล้ว มนุษย์เรากำลังลอยคออยู่ในทะเลของสารที่ทำให้เกิดมะเร็งซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า "สารก่อมะเร็ง" (carcinogen) อีกด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ทางองค์การอนามัยโลกได้รายงานถึงสารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็งมากถึง ๔๕๐ ชนิด โดยส่วนใหญ่ สารต่างๆ เหล่านี้แฝงตัวมาในธรรมชาติในรูปของอาหารพืช หรือสารเคมีต่างๆ เช่น เคมีวัตถุประเภทน้ำมันดิน (hydrocarbon) ที่ใช้ทำยารักษาโรค ใช้ในอุตสาหกรรมเคมี ควันไอเสียของเครื่องยนต์ เป็นต้น

- ฮอร์โมน (hormones) มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมจะมีความสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตเจน และโปรเจสเตอโรน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) เป็นต้น ฮอร์โมนเหล่านี้มักจะอยู่ในยารักษาโรค

- เชื้อไวรัส มีไวรัสหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ ไวรัสเหล่านี้เรียกว่า "ไวรัสที่ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง" (oncogenic viruses, tumour viruses) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามลักษณะของกรดนิวคลีอิก คือ ไวรัสดีเอ็นเอ และไวรัสอาร์เอ็นเอ เมื่อไวรัสเข้าไปในเซลล์แล้วก็จะมีการเพิ่มจำนวน (productive infection) หรืออาจจะไม่เพิ่มจำนวนก็ได้ แต่จะสามารถทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงในรูปร่างไปได้ (transformation) จากการที่ยีนหรือดีเอ็นเอของไวรัส (viralgnome หรือ viral DNA) ไปแทนที่ดีเอ็นเอของเซลล์

- สารพิษ (toxin) โดยเฉพาะสารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) จากเชื้อราแอสเพอร์จิลลัสฟลาวัส (aspergilus flavus) ซึ่งชอบขึ้นในอาหารประเภทถั่วต่างๆ โดยเฉพาะถั่วลิสง อาหารประเภทข้าวต่างๆ มันสำปะหลัง นอกจากนี้ยังเคยมีรายงานการตรวจพบสารอะฟลาทอกซินในน้ำนมวัว มะพร้าว และน้ำมันถั่วลิสง สารพิษนี้ทำให้เกิดมะเร็งตับได้โดยตรง

- พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งตับบางชนิดได้

- ภาวะขาดอาหาร  โรคตับแข็งซึ่งเกิดจากการขาดอาหารโปรตีน จะกลายเป็นมะเร็งตับได้ง่าย สารต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือสารที่ช่วย ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถ ทำให้เกิดมะเร็งได้เท่านั้น และร่างกายจะต้องได้รับ สารเหล่านั้นในปริมาณค่อนข้างมากในระยะเวลานานๆ ด้วย และประการสำคัญที่สุดคือ การที่บุคคลใดบุคคล หนึ่งจะเกิดเป็นมะเร็งได้นั้น ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานต่อโรคมะเร็ง ของบุคคลนั้นๆเป็นสำคัญ และยังจะต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะด้วย ฉะนั้น การที่รับประทานอาหาร ที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราว จึงไม่น่าจะต้องวิตกแต่อย่างใด

อาการของโรคมะเร็ง

๑. อาการเฉพาะที่

 

ไฝดำที่หน้าซึ่งเริ่มคัน และแตกกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง

 

 

อาการจะเกิดในบริเวณอวัยวะ หรือตำแหน่งที่เป็นมะเร็งก้อน ซึ่งในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็นจริงๆ อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นกับอวัยวะภายใน ทำให้วินิจฉัยโรคในระยะนี้ได้ยาก เมื่อโรคเป็นมากขึ้น จนเป็นก้อนมะเร็ง จะมีการเบียด และทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต้นกำเนิด ทำให้อวัยวะนั้นๆ เสียหน้าที่ไป ต่อมาก็จะมีการลุกลามแทรกซึม ไปทำลายอวัยวะใกล้เคียงอีกด้วย โดยที่ไม่มีอะไรไปขวางกั้นมันได้แม้แต่กระดูก มันจะทำให้กระดูกผุกร่อนหรือหักไปเลย เมื่อลามไปถึงหลอดเลือดก็จะมีการทำลายของผนังหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออก เมื่อลุกลามไปที่ท่อทางเดินต่างๆ ของร่างกาย ก็จะทำให้เกิดการอุดตันของท่อทางเดินต่างๆ หรือไม่ก็ทะลุไปเลย เช่น กลืนอาหารไม่ลง หายใจไม่ออก ลำไส้ทะลุ ฯลฯ เป็นต้น

๒. อาการแสดงของการโตของต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง

เมื่อโรคเป็นมากขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงจะโตเป็นก้อน มักจะแข็ง ระยะแรกจะเคลื่อนไหวได้เวลาจับ และต่อมาจะยึดแน่น เห็นได้ชัดเจนในมะเร็งบริเวณศีรษะ และลำคอ

๓. อาการทั่วๆ ไป ของมะเร็ง

มะเร็งจะมีผลทำให้สรีรวิทยา และเมตาโบลิซึมของร่างกายผิดไปจากปกติเกือบทุกระบบ โดยที่เซลล์มะเร็งจะปล่อยพิษให้ซึมซาบไปทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซูบซีด และในระยะสุดท้ายจะผอมแห้ง มะเร็งบางชนิดสามารถหลั่งฮอร์โมนได้ จึงทำให้ร่างกายมีการผิดปกติตามแต่ชนิดของฮอร์โมน เช่น มะเร็งของรังไข่ที่หลั่งฮอร์โมนเพศชาย จะทำให้ผู้ป่วยหญิงมีลักษณะคล้ายผู้ชาย เช่น มีหนวด เสียวห้าว เป็นต้น

๔. อาการที่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็ง

อาการชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับว่า มะเร็งทุติยภูมิจะไปเกิดที่อวัยวะใด ก็จะปรากฏอาการของการผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น ถ้าแพร่กระจายไปที่ปอด ก็ทำให้เกิดอาการไอ หอบ หรือมีน้ำท่วมปอด ถ้าแพร่กระจายไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะอย่างมาก จนถึงหมดสติไม่รู้สึกตัว เป็นต้น

โรคมะเร็งมีกี่ระยะ

ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนว ทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง

โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรัก ษา ส่วน โรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง

ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม

ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ

ระยะที่ 3: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง

ระยะที่ 4: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนทะ ลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า

Top

อ้างอิง

ข้อมูลภาพ

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=9&chap=6&page=chap6.htm

https://wallpaper.thaiware.com/download/467459/

ข้อมูลเนื้อหา

http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87/#article107

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=9&chap=6&page=chap6.htm