โรคอัมพาต หรือบางท่านเรียกว่า อาการอัมพาต ในความหมายทั่วไปคือ แขนและ/หรือ ขาขยับเขยื้อนไม่ได้ ไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้
ส่วนโรคอัมพฤกษ์หรืออาการอัมพฤกษ์ หมายถึงแขนและ/หรือขาอ่อนแรงกว่าเดิม ยังพอใช้งานได้ แต่ใช้ได้น้อยกว่าปกติเช่น อาจชา หยิบจับของหนัก หรือหยิบจับดินสอเพื่อเขียนหนังสือตามปกติไม่ได้ ดังนั้นอัมพฤกษ์จึงมีความรุนแรงน้อยกว่าอัมพาต
โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ที่จริงแล้วเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่ส่งผลให้สมองขาดเลือด จึงเกิดอาการแขนขาใช้งานไม่ได้
หรืออ่อนแรง ซึ่งทั้งอัมพาตและอัมพฤกษ์มีสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงและการดูแลรักษาเหมือนกัน ต่างกันเพียงความรุนแรงของโรคดังที่ได้
กล่าวไปแล้ว จึงจะกล่าวถึงโรคหรืออาการทั้งสองไปพร้อมๆกัน โดยขอเรียกว่าโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์
โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ (Stroke) ทางแพทย์เรียกว่า โรคซีวีเอ (CVA, cerebrovascu lar accident) หรือศัพท์บัญญัติจาก
ราชบัณฑิตยสถานคือ โรคลมปัจจุบันหรือโรคลมเหตุหลอดเลือดสมอง และนิยามโรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์ทางการแพทย์คือ อาการ
ผิดปกติที่เกิดจากสมองขาดเลือดเกิดขึ้นนานเกิน 24 ชั่วโมง แต่เมื่ออาการที่ผิดปกติสามารถหายกลับเป็นปกติได้ภายใน 24 ชั่วโมง
เรียกว่า เป็นอาการอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ชั่วคราว หรือคือโรค/อาการทีไอเอ(TIA, transient ischemic attack: สมองขาดเลือดชั่วคราว)
นอกจากใช้คำว่า Stroke แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) ซึ่งเป็นโรคเกิดจากการขาดเลือดเช่นกัน บางท่านจึงเรียกโรค/อาการนี้ว่า โรค/อาการ Brain attack หรือ โรค/อาการ Acute ischemic cerebrovascular syndrome
โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่งในประเทศที่เจริญแล้ว (แต่ปัจจุบันอัตรา เกิดโรคเริ่มทยอยลดลงเนื่องจากประชากร
ได้ตระหนัก จึงมีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้) ส่วนในประเทศที่กำลังพัฒนาพบโรคนี้สูงขึ้นถึง 10% ในช่วง พ.ศ. 2533 - 2553 (ค.ศ. 1990 - 2010) ทั้งนี้ในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคนี้ทั่วโลกประมาณ 17 ล้านคน และองค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) รายงานมีผู้ป่วยทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคนี้ประมาณ 6.7 ล้านคน โดยเป็นสาเหตุ การเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ ส่วนในประเทศไทยสถิติ ปีพ.ศ. 2553 โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็น
อันดับ 3 (10%) รองจากโรคมะเร็ง (19%) และโรคหัวใจ (12%) ตามลำดับ
โรคอัมพาตโรคอัมพฤกษ์พบได้บ่อยในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป (95% ของผู้ป่วยทั้งหมด) โดยผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอายุมากกว่า 65 ปี ทั้งนี้พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า |