รูปที่ 3
เนื่องจาก SLE เป็นโรคที่มีความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละคน การรักษาจึงมีหลากหลายระดับขึ้นอยู่กับว่าความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหน อวัยวะใดบ้างที่มีความผิดปกติ และอาการรบกวนชีวิตประจำวันของคุณมากน้อยแค่ไหน การวางแผนในการรักษาของแต่ละคนจึงอาจจะมีความแตกต่างกัน บางครั้งอาการของโรคกลับมาแต่ละรอบอาจจะมีการให้ยาที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันยังไม่มีทางที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้
เราสามารถควบคุมอาการของโรคให้ดีได้ด้วยการดูแลสุขภาพและการทานยาตามที่หมอแนะนำ คุณจะต้องเรียนรู้โรคนี้ให้ละเอียดว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ตรวจกับแพทย์ตามนัดเป็นประจำ และพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าออกกำลังกาย อาหาร เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
กลุ่มยาที่มักจะใช้ในการรักษา SLE
มียา 3 กลุ่มหลัก ๆ ที่นำมาใช้ในการรักษา SLE เมื่อมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าหากว่าอาการรุนแรงมากขึ้นก็ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น โดยทั่วไปเมื่อเริ่มพบว่าเป็น SLE แพทย์จะให้คำแนะนำและเลือกให้ยาในกลุ่มต่อไปนี้
1.ยากลุ่ม Nonsteroidal anti-inflammatory drugs หรือที่เรียกว่า กลุ่ม NSAIDs เช่นยา Naproxen, Ibuprofen ที่นิยมใช้ในการักษาอาการโดยจะช่วยลดการอักเสบของข้อ ยาพวกนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่หากใช้ต่อเนื่องในระยะยาวควรปรึกษาแพทย์ประจำ เนื่องจากอาจจะมีผลข้างเคียงในการทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะ พิษต่อไต และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
2.ยากลุ่ม Antimalarial drugs เป็นยาที่ใช้รักษามาลาเรียแต่เดิม แต่มีการวิจัยพบว่ายากลุ่มนี้สามารถลดอาการของ SLE ได้ และยังช่วยป้องกันการกำเริบของโรค ยาที่ใช้มาที่สุดในกลุ่มนี้คือยา Hydroxychloroquine (Plaquenil) แต่ยากลุ่มนี้ก็มีผลข้างเคียงที่อาจจะทำให้มีปัญหาของการมองเห็น และมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
3.ยากลุ่ม Corticosteroids คือยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่มักจะใช้ในการจัดการกับการอักเสบจากโรคนี้ แต่การใช้ระยะยาวจะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ได้แก่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีจ้ำตามตัวได้ง่าย กระดูกบางลง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย ผลข้างเคียงนี้จะมีมากขึ้นเมื่อต้องใช้ยาปริมาณที่สูงขึ้นและใช้เป็นเวลานาน เพื่อที่จะลดผลข้างเคียงนี้ แพทย์จะปรับยาลงให้เพียงพอกับการควบคุมอาการ และพยายามจะใช้ในระยะสั้นที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือในบางครั้งจะใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น เพื่อจะได้ลดปริมาณยา และลดผลข้างเคียง การรับประทานแคลเซียมและวิตามิน D เสริมจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
การรักษาอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละอวัยวะ การรักษาในแต่ละรายจะแตกต่างกัน เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อมีอาการแต่ละอวัยวะจะให้การดูแลดังนี้
1.อาการปวดตามข้อ อาจจะสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยากลุ่ม NSAIDs แต่ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นอาจจะต้องใช้ยาในกลุ่ม antimalarial drugs หรือยากลุ่ม corticosteroids มาเสริม
2.ผื่นตามตัวสามารถป้องกันการเกิดผื่นได้โดยการอย่าโดนแดด หลีกเลี่ยงแสงแดด ถ้าหากว่าต้องโดนแดด ต้องสวมเสื้อที่คลุมทั้งแขนและขา ใส่หมวก และทาครีมกันแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB อย่างน้อยต้องเป็น SPF50 ถ้าหากมีผื่นขึ้นสามารถใช้ครีมสเตียรอยด์ทาได้ การใช้สเตียรอยด์ หรือยากลุ่ม antimalarial ก็อาจจะนำมาใช้ในบางราย
3.อาการปวดบวมข้อ และผื่น ที่เป็นระยะยาว ถ้าหากว่าการรักษาข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์เฉพาะทางอาจจะแนะนำให้ใช้ยาตัวใหม่ที่ชื่อ belimumab (Benlysta). เป็นยาที่ผลิตมาจากโปรตีนของคนที่ มีการทดลองว่า หลังจากการใช้ยาไปหนึ่งปี พบว่าสามารถควบคุมอาการได้ดี
4.อาการอ่อนเพลีย รักษาโดยการหาสาเหตุที่แฝงอยู่ เช่น การนอนไม่หลับ ซึมเศร้า หรืออาการปวดที่ควบคุมได้ไม่ดี เมื่อทำการรักษาต้นเหตุที่แท้จริงแล้ว อาการก็จะดีขึ้น แต่ถ้าหาสาเหตุไม่พบ ก็จะทดลองให้ยากลุ่ม สเตียรอยด์ และยากลุ่ม antimalarial
5.อาการบวมอักเสบบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและปอด การอักเสบของเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งยาทั้งสามกลุ่มคือ NSAIDs, antimalarial drugs หรือยากลุ่มสเตียรอยด์ จะถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการอักเสบ
6.การรักษาในรายที่รุนแรง ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนจากโรค SLE อย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะมีผลต่อคุณภาพชีวิต หรืออาจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จากการถูกทำลายของอวัยวะสำคัญ เช่น ไต เส้นเลือด อาการทางสมองเช่นการชัก จะเป็นข้อบ่งชี้ที่จะให้การรักษาที่รุนแรงขึ้น โดยจะต้องมีการพูดคุยกับแพทย์ถึงทางเลือกในการรักษาได้แก่
6.1การใช้สเตียรอยด์ในขนาดสูง
การใช้สเตียรอยด์ในปริมาณที่สูงอาจเลือกชนิดรับประทานหรือชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดดำที่แขน วิธีนี้จะช่วยให้อาการที่รุนแรงหรือเสี่ยงต่อชีวิต ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจจะมีผลข้างเคียงจากยาได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ ความดันสูง กระดูกพรุน หรืการควบคุมอารมณ์ไม่ดี เพื่อที่จะลดผลข้างเคียงแพทย์จะให้ยาน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้ และเมื่ออาการดีขึ้นก็จะค่อย ๆ ลดปริมาณยาลง
6.2การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน Immunosuppressive drugs เช่นเดียวกับการใช้สเตียรอยด์ปริมาณสูง กลุ่มนี้จะควบคุมอาการที่รุนแรง แต่ก็อาจจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่นเดียวกัน ยาในกลุ่มที่นิยมใช้ได้แก่ cyclophosphamide (Cytoxan) และ azathioprine (Imuran, Azasan) ตัวที่อาจจะเลือกใช้อีกตัวคือ methotrexate สำหรับในรายที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับไตอาจจะพิจารณาเลือกยา mycophenolate (CellCept)
ยาในกลุ่มนี้มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด ขึ้นอยู่กับอาการ ผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้ คือความเสี่ยงในการติดเชื้อ พิษต่อตับ มีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
การใช้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงอาจใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อลดขนาดยาทั้งสองชนิด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงได้ ในบางครั้งถึงแม้ว่าใช้ยาอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังเกิดภาวะไตวาย ซึ่งต้องใช้การฟอกไตช่วย และถ้าเป็นภาวะที่ไตวายแบบถาวร อาจจะต้องทำการเปลี่ยนไต
ในปัจจุบันมีการทำวิจัยใหม่ เช่นการปลูกถ่าย Stem cell หรือการใช้ ฮอร์โมน DHEA มาช่วยในการรักษา แต่ยังต้องรอผลการศึกษาต่อไป
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลตนเอง
สำหรับผู้ป่วยโรค SLE มีวิธีการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการกำเริบขึ้น หรือถ้าหากมีอาการกลับขึ้นมาอีก
1.พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอด ซึ่งการพักผ่อนก็อาจจะยังไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็น บางคนอาจจะต้องการการงีบสั้น ๆ ตอนกลางวันด้วย ถ้าอยู่ในที่ทำงาน อาจจะต้องให้ผู้ร่วมงานยอมรับเรื่องนี้ด้วย
2.ปกป้องผิวจากแสงแดด
เนื่องจากรังสี UV สามารถกระตุ้นให้อาการกำเริบ ดังนั้นจึงควรใส่เสื้อผ้าที่ช่วยกัน หมวก เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และให้ครีมกันแดด อย่างน้อย 15-30 นาทีก่อนออกไปข้างนอก ช่วงเวลาที่ต้องระวังมากคือช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึงบ่ายสี่โมง นอกจากนี้แสงจากหลอดไฟ ก็อาจจะมีรังสี UV เช่นกัน ดังนั้นการใช้ ครีมกันแดด เป็นประจำก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน
3.ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายสามารถช่วยให้คุณอาการดีขึ้น ลดความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ ป้องกันภาวะซึมเศร้า และทำให้สุขภาพทั่วไปดีขึ้น พยายามออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ โดยพยายามตั้งเป้าให้ออกกำลังกายได้ 30 นาที อย่างน้อย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ถ้าหากรู้สึกอ่อนเพลียบ้างในบางช่วง ก็ไม่เป็นไร พักผ่อนให้รู้สึกแข็งแรงขึ้นก่อนได้ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย
4.งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และทำให้อาการของ SLE ที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดแย่ลงได้
5.ทานอาหารเพื่อสุขภาพ
พยายามทานผักผลไม้และธัญพืชเป็นประจำ ปกติไม่ได้มีอาหารชนิดใดที่เป็นข้อห้ามที่ชัดเจนสำหรับผู้ป่วย SLE แต่ในบางรายอาจจะต้องมีการจำกัดอาหารเป็นพิเศษ เช่นในรายที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีโรคไต่ร่วมด้วย ในเรื่องของอาหารเสริมที่มีการแนะนำว่าอาจจะช่วยได้ในผู้ป่วยโรค SLE ได้แก่ 1.น้ำมันปลา น้ำมันปลาประกอบด้วย omega-3 ซึ่งอาจจะมีประโยชน์กับคนไข้ SLE มีหลายงานวิจัยที่ช่วยสนับสนุน แต่ยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติม ผลข้างเคียงของน้ำมันปลา คืออาจจะมีอาการคลื่นไส้ ท้องอืด หรือมีกลิ่นปลา ลองปรึกษาแพทย์ก่อนที่เริ่มน้ำมันปลา 2.Flaxseed ประกอบด้วยกรดไขมันที่มีชื่อว่า alpha-linolenic acid ซึ่งอาจจะช่วยลดการอักเสบในร่างกาย บางการศึกษาพบว่า อาจจะช่วยทำให้การทำงานไตดีขึ้นในผู้ป่วย SLE แต่ยังรอการศึกษาเพิ่มเติมเช่นกัน ผลข้างเคียงของ Flaxseed คืออาจะทำให้มีอาการท้องอืด ปวดท้อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มใช้