ความหมายและสาเหตุของโรคฟันผุ

 

ความหมายของโรคฟันผุ
            โรคฟันผุก็คือ โรคของฟันที่มีเนื้อฟันถูกทำลายไป โดยมีการทำลายแร่ธาตุที่เป็น องค์ประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อเหล่านี้ จนทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะลุกลาม ขยายใหญ่และลึกขึ้นเรื่อยๆ เกิดการเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และสุดท้ายอาจต้องสูญเสียฟัน โดยต้องถอนออกไป
โรคฟันผุจัดเป็นโรคติดต่อ เพราะเกิดจากเชื้อโรค และติดต่อกันได้ทางน้ำลาย โดยกระบวนการเกิดโรค จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ตัวฟัน เชื้อจุลินทรีย์ และสภาวะความเป็นกรดภายในช่องปาก
โรคฟันผุระยะเริ่มต้นยังไม่ก่อให้เกิดอาการ เสียวหรือเจ็บปวด มีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวฟัน เห็นเป็นจุด หรือฝ้าขาวขุ่นคล้ายชอล์ก ซึ่งถ้า สังเกตเห็น หรือตรวจพบแต่เนิ่นๆ แล้ว จะสามารถ รักษาไม่ให้เกิดเป็นรูผุได้ แต่ถ้าต่อไปรักษาไม่ได้แล้วละก็ จะเกิดการทำลายของเนื้อฟันต่อไป ตามลำดับ ดังนี้คือ
ฟันผุระยะที่ 1   เริ่มเห็นเป็นรูผุที่ผิวฟันอาจมี สีเทาหรือดำ มีสีขาวขุ่นรอบๆ ระยะนี้ยังไม่มีอาการใดๆ
ฟันผุระยะที่ 2   รูฟันผุลุกลามกว้าง และลึกขึ้นเข้าสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้โพรงประสาทเกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อกินอาหารหวานหรือน้ำเย็น
ฟันผุระยะที่ 3   รูฟันที่ผุลุกลามลึกลงไป ถึง โพรงประสาทฟัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของประสาทรับความ รู้สึก ทำให้ปวด เคี้ยวไม่ได้
ฟันผุระยะที่ 4   การอักเสบลุกลามออกไป รอบตัวฟัน ถึงอวัยวะรอบตัวฟัน อาจเกิดฝี หนอง ฟันโยก ปวด เคี้ยวไม่ได้
เมื่อไม่สามารถรักษาฟันซี่ที่ผุไว้ได้ ต้องถอนฟันซี่นั้นออก ทำให้เกิดการต้องสูญเสียฟัน และมีปัญหาอื่นๆตามมาได้อีกมาก

สาเหตุของโรคฟันผุ
            โรคฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลายสะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เรียกว่า คราบฟัน หรือคราบแบคทีเรีย ซึ่งจะเกาะอยู่บนผิวของฟันแบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู โดยเริ่มจากขนาดเล็กมากๆ ลุกลามใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคฟันผุ
โรคฟันผุมักจะพบได้บ่อยในเด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ
– การบริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล)
– การดื่มน้ำที่ไม่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ
– อาการปากแห้ง
– การใช้ยาบางชนิด
– การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ

 

แหล่งอ้างอิง: http://www.ldcdental.com/2016/05/11/caries/