แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ดังนั้นวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ การควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายและกำจัดยุงลายทั้งลูกน้ำและตัวเต็มวัย เช่น
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อย ๆ ทุก 7 วัน สำหรับแจกันพลูด่าง ต้องใช้น้ำชะล้างไข่หรือลูกน้ำที่เกาะติดอยู่ตามรากด้วย
- จานรองขาตู้กับข้าวควรใส่น้ำเดือดลงไปทุก 7 วัน หรือน้ำส้มสายชู หรือใส่เกลือแดง (Sodium Chloride) ลงในน้ำที่อยู่ในจานรองขาตู้ ในปริมาณ 2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) เพื่อช่วยควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งวิธีนี้พบว่า สามารถช่วยควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน
- ปิดฝาตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ ถังเก็บน้ำ แท็งก์น้ำ บ่อน้ำ กะละมัง หรือถ้าไม่มีฝาปิดและยังไม่ต้องการใช้ก็ควรวางคว่ำไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย และควรหมั่นตรวจดูอยู่เสมอว่ามีลูกน้ำหรือไม่
- ล้างตุ่มน้ำ โอ่งน้ำทุก 10 วัน
- ควรเก็บกระป๋อง ขวดน้ำ กะลา ยางรถยนต์เก่า ๆ กระถางต้นไม้ เศษภาชนะแตกหัก หรือสิ่งที่จำเป็นที่ขังน้ำได้ ที่อยู่ในบริเวณบ้าน แหล่งชุมชน และโรงเรียน โดยนำมาทำลายหรือฝังดินให้หมด
- หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศที่ออกแบบมาไม่ดี มีรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำขังจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้
- ตรวจสอบท่อระบายน้ำบนหลังคาว่า มีแอ่งขังน้ำหรือไม่ ถ้าหากมีต้องรีบจัดการซ่อมแซมให้เป็นปกติ หรือหากรั้วไม้หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตมาเทใส่ปิดรู
- ถ้าเป็นไปได้ควรปรับพื้นบ้านและสนามอย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อที่จะทำให้เกิดน้ำขังได้
- ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม หรือภาชนะละ 2-4 ตัว รวมถึงอ่างบัวและตู้ปลาก็ควรมีปลากินลูกน้ำด้วย เพื่อเป็นการช่วยควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายไปด้วยอีกทางหนึ่ง
- ใส่ทรายอะเบท (Abate) ชนิด 1% ลงในตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ และภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด ในอัตราส่วน 10 กรัม/น้ำ 100 ลิตร (ตุ่มมังกรขนาด 8 ปี๊บ ให้ใส่ทรายอะเบท 2 ช้อนชา ส่วนตุ่มซีเมนต์ขนาด 12 ปี๊บ ให้ใส่ทรายอะเบท 2.5 ช้อนชา) และควรเติมใหม่ทุก 2-3 เดือน เป็นวิธีที่เหมาะกับภาชนะที่ไม่สามารถใส่ปลากินลูกน้ำได้ ส่วนน้ำที่ใส่ทรายอะเบทสามารถนำมาใช้ดื่มกินได้อย่างปลอดภัย
- พ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มีราคาแพงและเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะในยามที่จำเป็นเท่านั้น โดยควรเลือกฉีดในช่วงเวลาที่มีคนอยู่อาศัยน้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
- ใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (Diethyltoluamide – DEET) เป็นต้น เมื่อก่อนมียาฆ่ายุงที่มีชื่อว่าดีดีที (Dichlorodiphenyltrichloroethane – DDT) แต่สารนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเนื่องจากเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าขึ้นชื่อว่าสารเคมีไม่ว่าจะเป็นยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุงก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ได้ทั้งนั้น ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวจึงควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นจึงห้ามฉีดลงบนผิวหนังโดยตรง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด
- ตัดต้นไม้ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทดี
2.หาวิธีป้องกันอย่าให้ยุงลายกัดทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
- นอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่ติดมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด โดยจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
- หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่ติดมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (Oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (Oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่านำมาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะดีกว่าดีท (DEET)
- ถ้าเป็นไปได้ควรใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควรและควรเป็นเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
3.ให้ความรู้สุขศึกษาแก่ประชาชนเมื่อเข้าใกล้ฤดูฝนและร่วมกันรณรงค์ให้มีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อม ๆ กันทั้งในบ้าน โรงเรียน และแหล่งชุมชนอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง และจะต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศโดยการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ จึงจะได้ผลต่อการควบคุมยุงลาย
4.ผู้ปกครองของเด็กควรสงสัยไว้ก่อนว่า บุตรหลานที่มีอาการไข้สูงในช่วงฤดูฝนอาจเกิดจากโรคไข้เลือดออก และควรรีบพาบุตรหลานไปรับการตรวจรักษาโดยเร็ว
5.เนื่องจากไข้เลือดออกเป็นโรคระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านด้วยว่า มีไข้เลือดออก และควรแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดพ่นยาเพื่อฆ่ายุง
กลับหน้าหลัก
แหล่งอ้างอิง
https://medthai.com
http://www.chularat.com/images/source/3/news/rtye.jpg