อาการของโรคไข้เลือดออก

ระยะที่ 1 (ระยะไข้สูง) ระยะที่ 2 (ระยะช็อกและมีเลือดออก หรือ ระยะวิกฤติ) ระยะที่ 3 (ระยะฟื้นตัว)

ระยะที่ 1 (ระยะไข้สูง) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน 39-41 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นไข้สูงลอยตลอดเวลา (รับประทานยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด) หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว กระหายน้ำ ซึม มักมีอาการเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วยเสมอ อาจคลำพบตับโตและมีอาการกดเจ็บเล็กน้อย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องในบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงด้านขวา หรือปวดท้องทั่วไป หรืออาจมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเหลว ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี อาจพบอาการไข้สูงร่วมกับอาการชักได้
อาการอื่น ๆ ที่พบได้ คือ อ่อนเพลีย ปวดกระบอกตา เวลากลอกตาจะปวดเพิ่มขึ้น ไม่กล้าสู้แสง ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ปวดกระดูก
ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกของการเจ็บป่วย ผู้ป่วยอาจมีอาการผิวหนังแดงบริเวณใบหน้า ลำคอ และหน้าอก สามารถพบได้ประมาณ 50-80% ของผู้ป่วย เกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว หากเอามือกดจะมีสีจางลง


ในราววันที่ 3 ของไข้ (หลังอาการผิวหนังแดงหายไป) อาจมีผื่นปื้นแดงคล้ายหัด ไม่คัน ขึ้นตามแขนขา และลำตัว ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วัน ผื่นชนิดนี้มักจะเริ่มขึ้นที่หลังมือ หลังเท้า แล้วกระจายไปยังแขนขา และลำตัวในภายหลัง แต่มักไม่พบที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบผื่นลักษณะเป็นจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกที่มีลักษณะเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ร่วมด้วย (แต่บางครั้งอาจมีจ้ำเขียวด้วยก็ได้) ขึ้นตามหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ และในช่องปาก (เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และลิ้นไก่) ซึ่งเป็นตัวบอกว่าเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง และบางรายอาจมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหลได้
ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยอยู่ประมาณ 2-7 วัน ถ้าไม่มีอาการรุนแรง ส่วนมากไข้จะลดลงในวันที่ 5-7 แต่บางรายอาจมีไข้เกิน 7 วันก็ได้ แต่ถ้าเป็นมากก็จะปรากฏอาการระยะที่ 2
ส่วนมากผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมักจะไม่ค่อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอมากอย่างผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดหรือออกหัด แต่ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอ คอแดงเล็กน้อย หรือมีอาการไอบ้างเล็กน้อย
การทดสอบทูร์นิเคต์ (Tourniquet test) ส่วนใหญ่จะให้ผลบวกตั้งแต่เริ่มมีไข้ได้ 2 วันเป็นต้นไป และในวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว มักจะพบจุดเลือดออกมากกว่า 10-20 จุดเสมอ
ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มักพบว่ามีอาการในระยะเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งหากผู้ปกครองละเลยพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยเด็กจะเสียชีวิตเนื่องจากได้รับการรักษาที่ล่าช้าได้

กลับขึ้นด้านบน

ระยะที่ 2 (ระยะช็อกและมีเลือดออก หรือ ระยะวิกฤติ) มักจะพบในไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อเดงกีที่มีความรุนแรงขั้นที่ 3 และ 4 อาการจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ของโรค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่วิกฤติของโรค โดยอาการไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีอาการปวดท้องและอาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ปลายมือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว (อาจมากกว่า 120 ครั้ง/นาที) และมีความดันต่ำ ซึ่งเป็นอาการของภาวะช็อก (ภาวะนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพลาสมาไหลซึมออกจากหลอดเลือด จึงทำให้ปริมาตรของเลือดลดลงมาก) ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว ตัวเย็นชืด ปากเขียว คลำชีพจรไม่ได้ และความดันตกจนวัดไม่ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน
ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง
ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง (มีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้น) เนื่องจากเส้นเลือดเปราะ หรืออาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด ๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบ ๆ ถ้าเลือดออกมักจะทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงและผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
ในระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 24-72 ชั่วโมง ถ้าหากผู้ป่วยสามารถผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ต่อไป

กลับขึ้นด้านบน

ระยะที่ 3 (ระยะฟื้นตัว) ในรายที่มีภาวะช็อกไม่รุนแรง เมื่อผ่านวิกฤติช่วงระยะที่ 2 ไปแล้ว อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกรุนแรง เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวเข้าสู่สภาพปกติ โดยอาการที่แสดงว่าดีขึ้นนั้น คือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยากรับประทานอาหาร แล้วอาการต่าง ๆ ก็จะกลับคืนสู่สภาพปกติ ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น
ในบางรายอาจพบผื่นซึ่งมีลักษณะจำเพาะขึ้นเป็นวงเล็ก ๆ สีขาว ๆ บนปื้นสีแดงตามผิวหนังอีกที (ดูคล้าย “เกาะสีขาวในทะเลสีแดง” ซึ่งเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังจัดการกับเชื้อ) โดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้าง ผื่นชนิดนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการคันและไม่เจ็บ แต่อาจพบอาการคันตามผิวหนังเพียงเล็กน้อยประมาณ 16-27% ของผู้ป่วย หากคันมากอาจใช้คาลาไมน์โลชั่นทาแก้คันได้ ผื่นมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่ค่อยทิ้งรอยดำหรือแผลเป็น แต่อาจพบอาการผิวหนังลอกเป็นขุยได้บ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ ผื่นชนิดแรก (อาการผิวหนังเป็นปื้นแดง) และชนิดที่สอง (ผื่นเป็นวงขาวเป็นปื้นสีแดง) นี้ ไม่จำเป็นต้องพบคู่กัน
อาการของไข้เลือดออก
ระยะนี้อาจกินเวลาประมาณ 7-10 วัน (หลังจากผ่านพ้นระยะที่ 2 มาแล้ว) ถ้ารวมเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยเป็นไข้จนแข็งแรงดีก็จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ส่วนในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอยู่ 3-4 วัน ก็หายได้เอง ส่วนอาการไข้ (ตัวร้อน) อาจเป็นอยู่ 2-7 วัน หรือบางรายอาจนานเป็น 10 วันก็ได้

กลับขึ้นด้านบน

 

กลับหน้าหลัก

 

 

แหล่งอ้างอิง

https://medthai.com

http://fb1-p.lnwfile.com/0gxh1i.jpg

http://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/image/Dengue-2.jpg

https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS0-AkIX9lxaCw1RhS1S3BNQYg3vH3pTo2IDxiWYJvz_aDh7oKs_g