สาเหตุของโรคไข้เลือดออก |
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิด 1, 2, 3 และ 4 (DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4) โดยมียุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ตัวเมียเป็นพาหะนำโรค กล่าวคือ ยุงลายตัวเมียจะกัดและดูดเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน (เชื้อไวรัสเดงกีในเลือดของผู้ป่วยจะเข้าไปฟักตัวและเพิ่มจำนวนในตัวยุงและเชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในตัวยุงได้ตลอดอายุของยุง คือ ประมาณ 1-2 เดือน) แล้วจึงไปกัดคนที่อยู่ใกล้เคียงในรัศมีไม่เกิน 400 เมตร ซึ่งจะเป็นการแพร่เชื้อไปให้คนอื่น ๆ ต่อไป ยุงชนิดนี้เป็นยุงที่ออกหากิน (กัดคน) ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน (เดิมยุงลายนิยมออกหากินในเฉพาะเวลากลางวัน แต่ในระยะหลังพบว่ายุงลายมีการออกหากินในเวลากลางคืนด้วย) และชอบเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน เช่น ตุ่มน้ำ โอ่งน้ำ แจกัน จานรองตู้กับข้าว กระป๋อง ฝากะลา ยางรถยนต์เก่า ๆ หลุมที่มีน้ำขัง เป็นต้น
การติดเชื้อไวรัสเดงกีมีอาการแสดงได้ 3 แบบ คือ ไข้เดงกี (Denque Fever – DF), ไข้เลือดออก หรือ ไข้เลือดออกเดงกี (Dengue hemorrhagic fever – DHF) และไข้เลือดออกเดงกีที่ช็อก (Denque Shock Syndrome – DSS)
โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อเดงกีเข้าไปครั้งแรก (สามารถติดเชื้อตั้งแต่อายุได้ 6 เดือนขึ้นไป) จะมีระยะฟักตัวของโรคจนเกิดอาการประมาณ 3-15 วัน (ส่วนมากคือ 5-7 วัน) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่อยู่ประมาณ 5-7 วัน และส่วนมากจะไม่มีอาการเลือดออก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีเลือดออกหรือมีอาการรุนแรง เรียกว่า “ไข้เดงกี” (Dengue fever – DF) ต่อมาถ้าผู้ป่วยได้รับเชื้อซ้ำอีก ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อเดงกีชนิดเดิมหรือคนละชนิดกับที่ได้รับครั้งแรกก็ได้ ก็จะมีระยะฟักตัวของโรคสั้นกว่าครั้งแรก และร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาทำให้หลอดเลือดฝอยเปราะและเกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้พลาสมาหรือน้ำเลือดไหลซึมออกมาจากหลอดเลือด (ตรวจพบระดับฮีมาโตคริตสูง มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง) และมีเลือดออกได้ง่าย เป็นเหตุให้เกิดภาวะช็อก
เชื้อไวรัสเดงกีทั้ง 4 ชนิด จะมี Antigen ร่วมกันบางส่วน เมื่อเกิดการติดเชื้อชนิดหนึ่งจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออีกชนิดหนึ่งด้วย แต่ภูมิที่เกิดจะอยู่ได้เพียง 6-12 เดือน ส่วนภูมิที่เกิดกับเชื้อที่ป่วยจะมีไปตลอดชีวิต เช่น หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อ DEN-1 ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้ไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกีชนิดอื่นเพียง 6-12 เดือน ดังนั้น คนเราจึงมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกได้หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรงเพียงครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 2 ครั้งในชั่วชีวิต ส่วนที่จะเป็นรุนแรงซ้ำ ๆ กันหลายครั้งนั้นนับว่ามีน้อยมาก
ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรกมักจะไม่มีอาการหรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 โดยเฉพาะเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกได้ และโดยทั่วไปการติดเชื้อครั้งหลัง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง มักจะเกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 6 เดือน ถึง 5 ปี ด้วยเหตุนี้ไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงจึงมักพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี
แม้จะได้รับเชื้อเดงกี แต่คนที่จะแสดงอาการไข้มีเพียง 30-50% เท่านั้น ดังนั้น จึงมีคนจำนวนมากที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ
แหล่งอ้างอิง
https://timedotcom.files.wordpress.com/2016/02/zika-transmission-step2.gif?w=560
http://www.lampangcity.go.th/data_file/1274862569394.jpg