ระยะของมะเร็งปากมดลูก
- ระยะที่ 0 (ระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็ง) จะเป็นระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถตรวจพบได้จากการตรวจแปปสเมียร์แล้ว แต่ยังไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติอื่น ๆ จากการตรวจร่างกายได้
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ในเฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน แต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าไปจนถึงหรือติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน (อาจเป็นกับไตทั้งสองข้างก็ได้)
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงแล้ว คือ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง ต่อมน้ำเหลือง
อาการของมะเร็งปากมดลูก
- ในระยะเริ่มแรกหรือในระยะก่อนเป็นมะเร็งผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ตรวจแปปสเมียร์)
- เมื่อเริ่มเป็นมากขึ้นหรือมะเร็งลุกลามมากขึ้นจะพบว่ามีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด (เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณ 80-90% โดยลักษณะของเลือดที่ออกมาอาจจะเป็นเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน, เลือดออกในขณะหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์, เลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน), ประจำเดือนมานานผิดปกติ, อาจมีอาการเจ็บในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ในบางรายอาจมีตกขาวมากผิดปกติ อาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปนออกมาด้วย
- ในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามไปมากแล้วหรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อย, อาจปวดหลัง ปวดก้นกบ หรือปวดหลังร้าวลงขา หากโรคไปกดทับเส้นประสาท, อาจขาบวม หากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานหรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน, อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือดหากโรคลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ และอาจมีปัสสาวะผิดปกติ หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หากโรคลุกลามไปกดทับท่อไต (ทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้นจากก้อนมะเร็ง)
การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอด ตรวจคลำหน้าท้อง และตรวจทางทวารหนัก เพื่อจะได้เห็นปากมดลูกอย่างชัดเจน รวมไปถึงการคลำการลุกลามของโรคในอวัยวะข้างเคียง (คลำได้ทางทวารหนัก) หากตรวจพบก้อนเนื้อหรือแผล แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งไปตรวจทางพยาธิวิทยา
- การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการขูดเซลล์เยื่อบุปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้
- การตรวจด้วยกล้องตรวจปากมดลูก (Colposcopy) แพทย์นรีเวชอาจทำการตรวจด้วยวิธีนี้เพิ่มเติมและพิจารณาตัดชิ้นเนื้อในส่วนที่ผิดปกติ เพื่อส่งไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมต่อไป
- การตรวจอื่น ๆ การตรวจบางวิธีอาจช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกได้ เช่น การขูดมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด หรือตามแต่แพทย์นรีเวชจะเห็นว่าเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
|